สวัสดีปีหนูทอง

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2551 ขอให้คนไทยทุกคนจงประสบแต่ความสุข มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
มุ่งหวังสิ่งใดขอจงสมใจปรารถนาทุกประการ

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เทคโนโลยีการศึกษา

บทที่1
พัฒนาการเทคโนโลยี
ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
Techno มาจากภาษากรีกว่า Technologia หมายถึง การกระทำอย่างมีระบบ ภาษาละติน มาจากคำว่า
Texere หมายถึง การสานหรือการสร้าง (เสาวณีย์,2528) มีผู้ให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา
(Education Technology) ไว้ดังนี้
วิจิตร ศรีสอ้าน (วิจิตร,2517) ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเน้นการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิดอุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2546) สรุปว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" มีความหมายครอบคลุมการผลิต การใช้ และการพัฒนาสื่อสารมวลชน อันได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
ทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย,2546) นิยามว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาโดยทำสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และการจัดแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มาใช้เพื่อจัดให้การศึกษาที่สามารถผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตามความต้องการ
"เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" ตามความหมายของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ หมายถึง การทำสื่อตัวนำ คลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการแพร่เสียง ภาพ และการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
Carter V. Good (good,1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การทำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน มากกว่าการยึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์ รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์
Gagne' และ Briggs (gagne' ,1974) ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษานั้น พัฒนามาจากการออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยรวมถึง
1. ความสนใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการเรียนรู้ เช่น บทเรียน แบบโปรแกรม และบทเรียนการสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย เป็นต้น
2. ด้านพฤติกรรมศาสตร์และทฤษฎีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฎีการเสริมแรงของ B.F. Skinner
3. เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โสตทัศนูปกรณ์ประเภทต่างๆ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย
กิดานันท์ มลิทอง (2545) ปัจจุบันนี้สมาคมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการสื่อสารได้ให้ ความหมายว่า เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นทฤษฎีและการปฏิบัติทางการออกแบบและพัฒนาการใช้ การจัดการ และการประเมิน ของกระบวนการและทรัพยากร
แนวคิดของเทคโนโลยีการศึกษาจึงประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 5 กลุ่ม คือ การออกแบบ(Design)
การพัฒนา(Development) การใช้(Utilization) การจัดการ(Management) และการประเมิน(Evalution) ซึ่งแต่ละกลุ่มจะโยงเข้าสู่ศูนย์กลางของทฤษฎีและปฏิบัติ ดังนั้นเทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นผสมผสานกันระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นการประยุกต์เอาแนวคิด ความคิด เทคนิค วิธีการ วัสดุอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษานั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขน. ปี 2546
บทที่ 2
วิธีระบบกับเทคโนโลยีการเรียนการสอน
ตอนที่ 1 กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ในศตวรรษที่ 19 ชาร์ล ดาวิน (Charles Dawin) ได้คิดค้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยอาศัยวิธีอนุมาน-อุปมาน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดกระบวนการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method)
หลักการหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมีขั้นตอน ดังนี้ เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต (2538) กล่าวว่าขั้นตอนของวิธีการทางวิทยาศาสตร์มีดังนี้
1. ตั้งปัญหาหรือกำหนดขอบเขตของปัญหา
2. กำหนดสมมติฐาน เป็นการคาดเดาอย่างมีหลักการณ์ว่าผลของปัญหานั้นจะเป็นอย่างไร มีคำตอบอย่างไร โดยการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการคาดเดา
3. เก็บรวบรวมข้อมูล ในขั้นนี้เป็นการหาคำตอบของปัญหานั้นว่ามีคำตอบอย่างไร
4. วิเคราะห์ข้อมูล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูล หรือได้ผลการทดลองมาแล้ว
5. สรุปผล ในขั้นนี้เป็นการสรุปผลออกมาว่าคำตอบของปัญหานั้นเป็นอย่างไร
ประโยชน์ของวิธีการหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
1. ทำให้ได้มาซึ่งคำตอบของปัญหานั้นอย่างชัดเจนและถูกต้อง
2. กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้ที่ใช้มั่นใจในคำตอบที่ตนเองได้ค้นพบ
3. ส่งเสริมวิถีทางประชาธิปไตย เป็นคนมีเหตุผล
4. ส่งเสริมให้ทุกคนยอมรับในเหตุในผลที่เกิดขึ้น
ตอนที่ 2 ความหมายของระบบ
ระบบ (system) หมายถึง โครงสร้างหรือองค์ประกอบรวมทั้งหมดอย่างมีระบบ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ภายในของส่วนประกอบต่างๆ แต่ละส่วนและต่อส่วนรวมทั้งหมดของระบบอย่างชัดเจน(silvern)
ระบบ (system) คือผลรวมขององค์ประกอบย่อยๆ ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและมาประกอบรวมกันเป็นระบบเพื่อทำหน้าที่บางอย่าง เช่น ร่างกายมนุษย์ ฯลฯ (Robbins 1983:9)
ระบบ (system) คือส่วนรวมทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยส่วนย่อยหรือส่วนต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน อาจจะเกิดโดยธรรมชาติ เช่น ร่างการมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยระบบหายใจ ฯลฯ โดยแต่ละระบบต่างทำงานแล้วมามีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (กิดานันท์ มลิทอง 1983:74)
กล่าวโดยสรุประบบคือ การรวบรวมส่วนประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กันภายในและมีปฏิสัมพันธ์กันโดยส่วนประกอบทั้งหลายนั้นจะร่วมกันทำงานอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานนั้นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้
องค์ประกอบของระบบ
ภายในระบบหนึ่งจะสามารถแบ่งองค์ประกอบและหน้าที่ได้ดังนี้
1. ข้อมูล เป็นการตั้งปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา การตั้งวัตถุประสงค์ หรือเป็นการป้อนวัตถุดิบตลอดจนข้อมูลต่างๆ เพื่อแก้ปัญหานั้น
2. กระบวนการเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ป้อนเข้ามาเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3. ผลลัพธ์ เป็นผลผลิตที่ได้ออกมาภายหลังจากการดำเนินงานในขั้นของกระบวนสิ้นสุดลง รวมถึงประเมินด้วย
ประโยชน์ของวิธีระบบ
1. ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีขั้นตอน
2. ผู้ดำเนินงานสามารถตรวจสอบการดำเนินการได้ทุกขั้น
3. ผู้ตรวจสอบสามารถติดตามได้ง่าย
4. ทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ทำให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล
6. ได้สิ่งเร้าปัญญาที่ดีที่สุด
7. ทำให้การทำงานบรรลุผลได้ง่าย
เอกสารอ้างอิง
ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขน. ปี 2546

ภาพกิจกรรม